ก่อนออกจากบ้านปิดไฟหรือยัง เมื่อวานทานข้าวกับอะไร ทางกลับบ้านต้องไปทางไหน ทำไมเราถึงจำเรื่องง่าย ๆ ไม่ได้ หรือนี่คือสัญญาณของภาวะสมองเสื่อม สาเหตุหลักของโรคอัลไซเมอร์ ที่เริ่มตั้งแต่อาการหลงลืมเล็ก ๆ น้อย ๆ จนสูญเสียความสามารถในชีวิตประจำวัน
โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร
โรคอัลไซเมอร์ คืออาการสมองเสื่อมประเภทหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะค่อย ๆ สูญเสียความทรงจำในชีวิตประจำวัน เช่น ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ลืมบทสนทนา ลืมวิธีการใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่คุ้นเคย ลืมชื่อคนในครอบครัว ทำให้เกิดความสับสน กระทบกับการวางแผน การตัดสินใจ จนไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งต่างจากการหลงลืมทั่วไป ที่มักหลงลืมเพียงชั่วขณะ หรือลืมเรื่องราวที่ผ่านมานานแล้ว โดยโรคอัลไซเมอร์เมื่ออาการหนักขึ้นจะทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ นอนติดเตียง เกิดโรคแทรกซ้อน และเสียชีวิตในที่สุด
ความแตกต่างระหว่าง อัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อม
โรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดจากความเสื่อมของสมองระบบประสาท (Neurodegenerative Disease)โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสมองนั้นมีหลายชนิด อาทิ โรคพาร์กินสัน ที่เกิดจากความเสื่อมของสมองที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว โรคสมองเสื่อมจากภาวะสมองขาดเลือด ที่เกิดจากเส้นเลือดสมองตีบ หรือแตก และโรคอัลไซเมอร์ที่อาการสัมพันธ์กับความทรงจำ การตัดสินใจ และการสื่อสารเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคสมองเสื่อม ส่วนมากจะพบอาการอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ ดังนั้น การป้องกันสมองเสื่อมก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์
สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์เกิดจากการสะสมของโปรตีนอย่างผิดปกติในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อม ขาดประสิทธิภาพในการทำงานเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ และทำให้เซลล์สมองตาย โดยจะเริ่มพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อสมองได้รับความเสียหายไปแล้ว ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวสันนิษฐานว่ามาจากพันธุกรรม การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
อาการของโรคอัลไซเมอร์
อาการของโรคอัลไซเมอร์มักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เริ่มจากการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ก่อนจะเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมตามมา ในผู้สูงอายุที่สมองเสื่อมลงตามธรรมชาติ จะมีอาการใกล้เคียงมากกับอาการเริ่มแรกของอัลไซเมอร์ หากใครมีผู้สูงสูงอายุในบ้าน แนะนำให้สังเกตอาการอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด โดยอาการทั่วไปของโรคอัลไซเมอร์ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะเริ่มแรก หลงลืมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะลืมเรื่องที่คุ้นเคย ย้ำคิดย้ำทำ สับสนทิศทาง และเริ่มมีความเครียดจากการหลงลืมที่กระทบกับการใช้ชีวิต
ระยะกลาง ความจำแย่ลงจากระยะเริ่มแรก มีพฤติกรรมผิดปกติ เลื่อนลอย บุคลิกภาพ การแสดงออกที่ต่างจากเดิมอย่างตรงกันข้าม ก้าวร้าว ฉุนเฉียว อารมณ์ไม่คงที่
ระยะสุดท้าย ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง เคลื่อนไหวร่างกายน้อยมาก หรือไม่เคลื่อนไหวเลยคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานอาหารเองไม่ได้ ควบคุมการขับถ่ายลำบาก และภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นบ่อเกิดของโรคแทรกซ้อนและการติดเชื้อก่อนเสียชีวิต
คุณกำลังเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์หรือไม่
หลายคนอาจเข้าใจว่าอัลไซเมอร์คือโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะผู้สูงอายุ แต่ที่จริงแล้วนอกจากจะพบอาการอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ ก็ยังพบอาการอัลไซเมอร์มากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อยลง หรือคนวัยทำงานด้วย ลองมาดูกันว่าพฤติกรรมใดที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์
- ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก และสูบบุหรี่เป็นประจำ
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต หรือมีน้ำหนักเกิน
- นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีภาวะซึมเศร้า
- มีประวัติเกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนสมองอย่างรุนแรง
- ภาวะหูตึงหรือการได้ยินที่ลดลง
- เผชิญกับมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5
- ขาดการเข้าสังคมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
การตรวจหาโรคอัลไซเมอร์จะเริ่มจากการตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวิเคราะห์ว่าอาการสมองเสื่อมนั้นเป็นชนิดอาการใด ใช่โรคอัลไซเมอร์หรือไม่ โดยใช้การตรวจ 5 รูปแบบคือ
- การซักประวัติ ทั้งจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยอย่างละเอียด เนื่องจากผู้ป่วยอาจหลงลืมหรือไม่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
- ทำแบบทดสอบความสามารถของสมอง
- ตรวจเช็คระบบประสาท
- ตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม
- ตรวจภาพถ่ายสมอง โดยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกว่าการทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging)
โรคอัลไซเมอร์วิธีรักษามีอะไรบ้าง
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอความรุนแรงของโรค และป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์วิธีรักษาจะแบ่งเป็น 2 วิธีดังนี้
การรักษาด้วยการใช้ยา มักเป็นการใช้ยาเพื่อยังยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ หรือง่ายต่อการดูแล แต่จะไม่ได้ช่วยฟื้นฟูความจำให้กลับคืนมา
การรักษาโดยไม่ใช้ยา เน้นการบำบัดพฤติกรรม ลดการเสื่อมถอยของสมอง ได้แก่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การดูแลการนอนหลับให้มีประสิทธิภาพด้วยการไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การจัดเวลาเข้านอนและตื่นนอน ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะเลือดข้น สมองไม่สดชื่น และควรให้ผู้ป่วยได้พบปะผู้คน หรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ กระตุ้นให้สมองกระปรี้กระเปร่า
วิธีป้องกันสมองเสื่อม
อัลไซเมอร์คืออาการสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการป้องกันสมองเสื่อมจึงสำคัญมาก เบื้องต้นแนะนำให้ดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังนี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และไม่ใช้ยาที่ทำให้ง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ และยาแก้แพ้
- จัดการความเครียด
- ดูแลอาหารที่รับประทาน เลี่ยงอาหารไขมันสูง เค็ม หรือหวานจัด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมอง เช่น อ่านหนังสือ คิดเลข หรือลองหากิจกรรมใหม่ ๆ ให้สมองได้ใช้เพื่อการเรียนรู้
วิธีการชะลอการเกิดอัลไซเมอร์
เมื่ออายุมากขึ้น หลายคนจึงพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเกิดโรคอัลไซเมอร์ จากการใช้ชีวิตที่ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเราสามารถชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการใช้นวัตกรรมการแพทย์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พร้อมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นบริหารสมอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือการทำสมาธิเพื่อลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การใช้ Brain Wave Enhance นวัตกรรมการแพทย์ที่เสริมการดูแลสมอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและสารสื่อประสาท ช่วยในการนอนหลับ และทำให้สมองเกิดสมาธิ และเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อสมองได้รับการฟื้นฟูที่ดี ก็จะช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
การฟื้นฟูด้วยสเต็มเซลล์ ด้วยการอาศัยคุณสมบัติของสเต็มเซลล์เยื่อหุ้มรก - Amnion Tissue ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อวัยวะต่าง ๆ ได้หลายชนิด จึงเป็นทางเลือกในการบำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง
ปัจจุบันนวัตกรรมการดูแลสุขภาพก้าวหน้าไปมาก เราไม่จำเป็นต้องรอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยรักษาโรค โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกายและสมองอย่างโรคอัลไซเมอร์สามารถป้องกันได้ เพื่อชะลอการเจ็บป่วย ให้ร่างกายทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพแม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองเวลาเข้ารับบริการ ได้ที่
R3 Life Wellness Center 42 อาคาร ไอ ซี พี ชั้น 4 ถนนสุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กทม.
- Tel.: 0 2233 8000 , 088 689 8888
- Whatsapp: (+66) 88 689 8888
- Line OA: @r3lifewellness
- Facebook: https://www.facebook.com/r3lifewellness
- Instagram: https://www.instagram.com/r3lifewellness_official/
- Flagship Location: https://maps.app.goo.gl/b3sw5oYTtTUHSM956